|
บบความ"เลขคณิตคิดสนุก แนะพ่อแม่สอนลูกๆ จากกิจกรรมในบ้าน"
"คณิตศาสตร์ทำไมยากจัง?" นี่อาจเป็นความคิดที่กำลังผุดขึ้นมาในหัวสมองของเด็กๆ หลายคน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็ตาม เอ! แล้วอย่างนี้จะมีวิธีไหนที่ช่วยให้ลูกๆ หลานๆ รู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่ยาก และอยากเรียนวิชานี้มากขึ้นบ้างนะ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีคำตอบ จากนักวิชาการมาเฉลยให้ฟังกัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ผู้ปกครองกับการส่งเสริม การเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยตนเองที่บ้าน” โดยอาจารย์สุรัชน์ อินทสังข์ จากภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 24 ส.ค.51 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2551 ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเข้าฟังด้วย อ.สุรัชน์ บอกว่า เด็กไทยคิดคำนวณเลขเก่ง ทว่ายังขาดการให้เหตุผล ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กฝึกคิดหาเหตุผลได้ โดยการชวนลูกคุย และหมั่นตั้งคำถาม ให้เด็กได้ฝึกคิด ส่วนคำตอบจะผิดหรือถูกยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ อีกทั้ง เนื่องจากการเรียนการสอนที่โรงเรียนอัดแน่นเนื้อหาเอาไว้มาก ทำให้คุณครูผู้สอนมักเร่งรีบสอนเพื่อให้จบเนื้อหา เด็กๆ จึงไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม เช่น เรียนเรื่องการชั่ง ตวง วัด แต่เด็กไม่เคยได้สัมผัสเครื่องชั่งจริงๆ เลยสักที ทำให้เด็กๆ ขาดทักษะส่วนนี้ไป ซึ่งทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อการเรียนคณิตศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่เรียนบวก ลบ คูณ หาร เท่านั้น "คณิตศาสตร์ซ่อนอยู่ในหลายๆ ที่ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น หนังสือพิมพ์ ในห้องครัว ในสวน สนามเด็กเล่น เป็นต้น เมื่อผู้ปกครองพบเห็นอะไร ก็สามารถเก็บประเด็นแล้วนำมาพูดคุยกับลูกหลานได้ หรือหากิจกรรมสนุกมาทำร่วมกันในครอบครัวและให้เด็กมีส่วนร่วมด้วย เช่น เล่นเกมทางคณิตศาสตร์ เข้าครัวทำอาหาร เป็นต้น" อ.สุรัชน์ กล่าว อ.สุรัชน์ ยกตัวอย่างกิจกรรม ให้ผู้ปกครองและเด็กทำเยลลีด้วยกัน ซึ่งทำได้ไม่ยาก และเด็กก็จะได้เรียนรู้ทักษะการชั่ง ตวง วัด ว่าหากต้องการผงเยลลีเท่านี้ ผสมน้ำเท่านั้น จะมีวิธีตวงได้อย่างไร หรืออาจพลิกแพลงสูตรที่ต่างออกไป เช่น ลองใส่น้ำมากขึ้นหรือน้อยลง และเยลลีที่ได้จะมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง เด็กก็จะได้เรียนรู้อีกว่าควรจะใส่ส่วนผสมในปริมาณเท่าไหร่จึงจะได้เยลลีที่อร่อยที่สุด หรือชักชวนลูกหลานไปจ่ายตลาดด้วยกัน เด็กๆ ก็จะได้ฝึกวางแผนว่าจะต้องซื้ออะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ และปริมาณเท่านี้คิดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ เป็นการให้เด็กได้ฝึกคำนวณเลข นอกจากนี้เวลาที่เดินทางไปยังที่ต่างๆ ซึ่งจะพบป้ายบอกระยะทางได้ทั่วไป ก็สามารถหยิบยกเอามาเป็นโจทย์ให้เด็กฝึกคิดเลขได้ไม่ยาก เมื่อเด็กเล่นอยู่ในสวนที่มีดอกไม้ ก็อาจเรียนรู้คณิตศาสตร์จากการนับกลีบดอกไม้แต่ละชนิด เช่น ดอกเข็มที่ส่วนใหญ่มี 4 กลีบ แต่จะมีบางดอกที่มี 5 กลีบ หรือ 6 กลีบ ก็หยิบยกเอามาขบคิดเรื่องสถิติก็ได้ว่าจะมีโอกาสพบดอก 5-6 กลีบ ได้อย่างไรบ้าง หรือเมื่ออยู่สนามเด็กเล่น ก็มักพบเห็นรูปทรงเรขาคณิตได้ในเครื่องเล่นทั่วไป ก็กำหนดเป็นโจทย์ให้เด็กทำความรู้จักกับรูปทรงต่างๆ คำนวนหาพื้นที่จากรูปทรงเหล่านั้น เช่น ลูกฟุตบอล ล้อรถจักกระยาน เป็นต้น อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การประดิษฐ์กล่องของขวัญ ซึ่งนอกจากผู้ปกครองและเด็กจะได้ใช้เวลาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันแล้ว เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะอีกมากมายจากการประดิษฐ์กล่องสัก 1 ใบ เริ่มแรกอาจนำกล่องที่มีอยู่แล้ว มาแกะและพิจารณาดูว่าเขาทำอย่างไร จึงได้เป็นกล่องใบนั้นขึ้นมา แล้วจากนั้นจึงทดลองทำกล่องใบใหม่ ซึ่งการทำกล่องก็จะต้องมีการวัดสัดส่วน วัดมุม เพื่อให้ได้ขนาดกล่องตามที่ต้องการ และครั้งต่อไปก็อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบกล่องที่ซับซ้อนมากขึ้น และการประดิษฐ์กล่องนั้นยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในระดับสูงขึ้นไปอีกด้วย นอกจากนี้ อ.สุรัชน์ ยังได้แนะนำเกมสนุกๆ ที่พ่อแม่สามารถนำไปเล่นกับเด็ก เพื่อช่วยฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ของลูกเพิ่มเติมจากที่โรงเรียนได้ไม่ยาก เช่น เกมทายตัวเลข เกมนับตัวเลข เกมโยนเหรียญ เกมทอยลูกเต๋า หรือเกมไพ่ผสม 10 ซึ่งเกมเหล่านี้สามารถพลิกเพลงได้หลายอย่าง เกมไพ่ อาจไม่จำเป็นต้องผสม 10 แต่เป็นผสม 7 หรือ ผสม 11 ก็สามารถเล่นได้ทั้งหมด ในการให้เด็กฝึกทักษะคิดเลข การเล่นเกมจะทำให้เด็กชอบได้ง่าย เพราะมีการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวด้วย และในการเล่นเกมก็มักมีกลยุทธที่ช่วยให้ชนะได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เด็กจะยังไม่รู้ในตอนแรก และผู้ปกครองเองก็ไม่ควรบอก แต่ปล่อยให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง "การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันที่บ้าน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักไม่ค่อยนำมาใช้" อ.สุรัชน์ เผย "การส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กจากที่บ้าน ยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ด้วย ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และนำมาเล่นสนุกกันได้ ไม่ใช่เรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้เด็กสนใจและรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น" อ.สุรัชน์ กล่าว และบอกอีกว่ายังเป็นการประเมินได้ด้วยว่าเด็กๆ ได้ความรู้จากที่โรงเรียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเนื้อหาเรียนได้จากที่โรงเรียน แต่ที่บ้านคือการนำมาใช้จริง อย่างไรก็ตา อ.สุรัชน์ บอกอีกว่าคณิตศาสตร์มีความเป็นนามธรรม มากกว่าวิชาอื่นๆ เพราะฉะนั้นคุณครู จึงควรมีทักษะที่สามารถดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคณิตศาสตร์ ออกมานำเสนอให้เด็กสนใจได้ ส่วนผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยให้การเรียนการสอนเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว และควรปรับเปลี่ยนทัศนคติต้องไม่คิดว่าตนเองเคยเรียนมาอย่างไร ลูกก็ต้องเรียนอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน ผู้ปกครองควรจะติดตามความก้าวหน้า ของหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันด้วย เพื่อที่จะได้เสริมทักษะให้ลูกหลานได้ถูกต้อง ซึ่งเดี๋ยวนี้มีสื่อและเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่น่าสนใจให้เลือกมากมาย ทั้งจากหนังสือ คอมพิวเตอร์ หรือของหน่วนงานต่างๆ ผู้ปกครองต้องหมั่นค้นหาเพิ่มเติม และนำมาสอนลูกหลานด้วยตัวเอง ก็จะช่วยเพิ่มทักษะของเด็กได้มากขึ้น. |
|
|
สรุปบทความเลขคณิตคิดสนุก แนะพ่อแม่สอนลูกๆ จากกิจกรรมในบ้าน
การส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กจากที่บ้าน ยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ด้วย ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และนำมาเล่นสนุกกันได้ ไม่ใช่เรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้เด็กสนใจและรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น" อ.สุรัชน์ กล่าว และบอกอีกว่ายังเป็นการประเมินได้ด้วยว่าเด็กๆ ได้ความรู้จากที่โรงเรียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเนื้อหาเรียนได้จากที่โรงเรียน แต่ที่บ้านคือการนำมาใช้จริง
การเล่นเกมจะทำให้เด็กชอบได้ง่าย เพราะมีการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวด้วย และในการเล่นเกมก็มักมีกลยุทธที่ช่วยให้ชนะได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เด็กจะยังไม่รู้ในตอนแรก และผู้ปกครองเองก็ไม่ควรบอก แต่ปล่อยให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น